ร้อยเอ็ด เกษตรกรนาข้าวชาวโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ ปลูกแตงโมแซมนาข้าว ไม่ต้องเศร้ากับภาวะแล้ง
/ชมรมสื่อออนไลน์IT/nuk-komgrich/0817082129-
จากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ส่งผลให้ต้นข้าวในทุ่งนาเปลี่ยนจากสีเขียวกลายเป็นสีเหลือง ทำให้เกษตรกรหลายคนวิตกกังวลกับปัญหาข้าวอาจยืนต้นตายหรืออาจได้ผลผลิตลดลง แต่สำหรับนายศักดา อาจเดช เกษตรกรหมู่ที่ 7 ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด มองเห็นโอกาสในภาวะวิกฤต ปลูกแตงโมแซมนาข้าวสร้างรายได้เพิ่ม ลดการขาดทุน สร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตามศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ 8 สิงหาคม 2562 นายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่เยี่ยมติดตามการทำนาของเกษตรกรนาข้าวในฤดูกาลผลิต 2562 นี้ จากเหตุการณ์ภาวะฝนทิ้งช่วงนาน และปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเติมเต็มในท้องนา และแหล่งเก็บน้ำต่างๆไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเท่าใดนัก แต่พบว่า มีเกษตรกรหมู่ที่ 7 ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ คือ นายศักดา อาจเดช เกษตรกรเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอปทุมรัตต์ ที่มีมุมมองที่แตกต่าง ในภาวะฝนทิ้งช่วงนี้ มองภาพวิกฤตนาข้าวที่ขาดน้ำในช่วงต้นฤดูกาล หันมาปลูกแตงโมพืชใช้น้ำน้อยแซมในนาข้าว ในฤดูทำนาปีปกติ โดยการโรยเมล็ดพันธุ์แตงโมเป็นระยะ ในขั้นตอนการปั่นดินกลบเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่าน ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี สามารถเก็บผลิตขายได้
นายศักดา เล่าให้ฟังว่า เมล็ดพันธุ์แตงโมที่ใช้ คือ ตอปิโด,จินตหรา ลงทุนแค่ค่าเมล็ดพันธุ์ 1 กระป๋อง 180 บาท ใช้กับพื้นที่นา 32 ไร่ โดยโรยเป็นจุดห่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับต้นข้าว จากการสังเกตแตงโมจะเกิดได้ดีในนาดินทราย ซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด อายุการเก็บแตงโมจะอยู่ประมาณ 60-65 วัน ระยะเก็บแตงโมจำหน่ายประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม หากน้ำไม่มาเร็วจนท่วมขัง ก็จะเก็บแตงโมได้ประมาณ 3 รุ่น ซึ่งจะจำหน่ายภายในชุมชนเป็นหลัก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาท สำหรับปีนี้แตงโมรุ่นแรก สามารถสร้างรายได้กว่า 6,000 บาท นับได้ว่าเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม และยังเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงลดการขาดทุน หากนาข้าวได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งเสียหายในปีนี้
จากการที่ นายศักดา อาจเดช ได้มีประสบการณ์ในการทำการเกษตรและการปลูกข้าวนาปี มาอย่างยาวนาน จนสามารถมองเห็นโอกาสการสร้างรายได้ด้วยการปลูกแตงโมแซมนาข้าวเพื่อสร้างรายได้เสริมในพื้นที่นาข้าวของตนเองที่มีความเหมาะสม สามารถปลูกได้ในระหว่างรอน้ำฝน นับเป็นการนำศาสตร์พระราชา มาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรผู้สนใจ ได้นำไปปรับใช้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างรายได้ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ลดความเสี่ยงที่จะเสียหายโดยสิ้นเชิงจากภาวะฝนแล้ง อีกต่อไป
/ชมรมสื่อออนไลน์IT/สมนึก บุญศรี-ประธาน/ร้อยเอ็ด/0817082129-ข่าว
คมกฤช พวงศรีเคน-บริหาร/ภาพ