ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
แถลงข่าวเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/ 2564 แบบออนไลน์ เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนรายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัวเล็กน้อยเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง
/สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/0885730542-รายงาน
เมื่อ4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา10.00น. ณ ห้องประชุมปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
แถลงข่าวเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/ 2564 แบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 4 ปี 2563
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ขยายตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน
ตามการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการรัฐ โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น ตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงวันหยุดยาวที่มากกว่าปีก่อน การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณที่ล่าช้าในปีก่อน ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวตามการก่อสร้าง สำหรับรายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวตามผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น จากปริมาณฝนที่เอื้ออำนวยกว่าปีก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง จากอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามหมวดพลังงาน จากราคา
ขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาอาหารสดชะลอตัว ด้านการจ้างงานขยายตัว จากผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว สำหรับภาคการเงิน (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563) เงินฝากและสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวสูงขึ้นตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงวันหยุดยาวที่มากกว่าปีก่อน ประกอบกับการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์กลับมาขยายตัว จากกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว
หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวเป็นไตรมาสแรก สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัจจัยบวกของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณฝนเอื้ออำนวยกว่าปีก่อน ประกอบกับผลผลิตยางพาราและปศุสัตว์ยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรหดตัว ตามราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวสูงขึ้นจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ โดยรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณที่ล่าช้าในปีก่อน ด้านรายจ่ายประจำขยายตัวจากเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล จากการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
การลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ขยายตัว ซึ่งบางส่วนเป็นการสร้างชดเชยสต็อกที่ระบายไปในช่วงก่อน อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนภาพแนวโน้มการลงทุนโดยรวมที่ยังเปราะบาง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง จากการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรที่ขยายตัว ตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำตาลทรายยังหดตัวสูง จากผลผลิตอ้อยโรงงานที่ลดลง ตามพื้นที่เพาะปลูกและผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวน้อยลง ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นบ้าง
มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่องทั้งการส่งออกและนำเข้าจากจีนโดยผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลประเภท Cloud Storage ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากช่องทางอื่นมาขนส่งผ่านด่านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลน
ตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นค่าระวางเรือจากสถานการณ์ COVID-19 ขณะที่การส่งออกไป สปป.ลาว หดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้าสำคัญ ด้านการนำเข้าขยายตัวในหมวดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์เครือข่าย 5G
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ร้อยละ 0.77 ติดลบน้อยลงตามหมวดพลังงาน จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จากข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ขณะที่หมวดอาหารสดชะลอลงจากราคาข้าว ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน ด้านการจ้างงานขยายตัว จากผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว
ภาคการเงิน (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563) เงินฝากและสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงิน ขยายตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน โดยเงินฝากคงค้างยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ตามความต้องการรักษาสภาพคล่องของภาคธุรกิจและประชาชน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐ และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564
/สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/0885730542-รายงาน
Cr.ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค
โทรศัพท์: 0 4391 3534
E-mail: Sunatthc@bot.or.th